Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 สัญญาณ SOS ที่ลูกส่งขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่

Posted By Plook TCAS | 18 ก.ย. 66
275 Views

  Favorite

          เรื่องของสุขภาพจิตนั้นถือว่ามีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพโดยรวมของทุก ๆ คน ซึ่งหลาย คนอาจมีความเข้าใจผิดว่า ความเครียดนั้นเลือกที่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วความเครียดไม่เลือกอายุ และไม่เว้นแม้แต่กับเด็กเล็ก ซึ่งในฐานะผู้ปกครอง คุณมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนให้ลูกมีจิตใจที่ดี ไม่ใช่เพียงมอบความสุข แต่การแก้ความทุกข์ของลูกน้อยนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหลาย ๆ ครอบครัวอาจจะเข้าใจว่า เราเข้าใจและรู้ใจลูกน้อยข้างกายเราทุกอย่าง แต่บางครั้งเราอาจจะละเลยสัญญาณขอความช่วยเหลือที่เหล่าตัวน้อยกำลังส่งถึงคุณ

 

1. กลับมางอแง และติดคุณพ่อคุณแม่มากผิดปกติ  

          จากเด็กร่าเริง เล่นกับคนโน้นคนนี้ได้ง่าย วิ่งเล่นไปมา กลับกลายเป็นเด็กนิ่ง ไม่ลุกไปไหน ไม่เข้าหาใคร ไม่เล่นกับคนที่เคยเล่น ไม่คุยกับคนที่เคยคุย หรือไม่ยอมทำกิจกรรมง่าย ๆ ที่ลูกเคยทำเองได้ เช่น เล่นของเล่นคนเดียว การกล้าแสดงออก อยู่ ๆ ก็ไม่อยากทำ หรือไม่สามารถทำได้ แล้วเปลี่ยนเป็นงอแง เกาะติดคุณพ่อคุณแม่แจ ถ้าอาการนี้มาเมื่อไหร่ บอกเลยว่า ลูกของคุณอารมณ์ไม่ปรกติแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่และผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องจับสังเกตให้เจออย่างรวดเร็ว และหาทางสื่อสารกับลูกให้ได้ว่าลูกน้อยของเรากำลังเป็นอะไร ต้องการความช่วยเหลือ หรือความเข้าใจอะไรจากเราเป็นพิเศษหรือไม่  

 

2. มีรูปแบบการนอน หรือเวลานอนที่ผิดปกติ 

          คุณพ่อคุณแม่ควรลองจับสังเกตการนอนที่ผิดปกติของลูก ซึ่งหลายครอบครัวมักจะฟันธงไปเลยว่าลูกไม่ชอบเข้านอน หรือนอนยาก แต่อยากให้ลองสังเกตเพิ่มขึ้นอีกนิดว่า ที่เรียกกว่ายากนั้น ยากกว่าปกติมั้ย นอนไม่หลับจริง ๆ มั้ย หรือตื่นกลางดึกหรือเปล่า หรือมีอาการฝันร้าย เป็นต้น เพราะบางครั้งเด็กอาจจะกลัวการนอน กลัวความฝัน กลัวการที่ตัวเองต้องตื่นมาอยู่คนเดียวกลางคืน แล้วไม่เห็นใคร หรือเห็นคุณพ่อคุณแม่หลับหมดแล้ว จึงอาจทำให้เขาไม่อยากนอน ไม่กล้าหลับ กลัวว่าหลับไปแล้วจะไปเจอกับเรื่องน่ากลัวในความฝัน ซึ่งเด็กยังแยกแยะไม่ได้ ระหว่างโลกความฝันกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องสืบเสาะหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วอธิบายทำความเข้าใจกับลูก ให้ลูกน้อยไม่หวาดกลัวจนกลายเป็นโรคแพ้กลางคืน 

 

3. หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่พอใจในสิ่งที่เคยพอใจ

          สัญญาณนี้เป็นภาพที่ชัดเจนและสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยาก เพราะเด็กเล็กจะสามารถ Entertain ตัวเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ทำให้ตัวเองสนุกได้กับเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ใหญ่ได้แต่สงสัยว่าสนุกตรงไหน (แต่นั่นล่ะ ครั้งหนึ่งคุณก็เคยสนุกแบบนี้มาก่อน) แต่หากมีอาการเบื่อหรือปฏิเสธของเล่นหรือกิจกรรมเดิม ๆ ที่เคยชอบ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของลูกน้อยที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่หยิบไม่จับไม่กอดกับเจ้าตุ๊กตาหมีตัวโปรด ขว้างปาอุปกรณ์ระบายสีที่เคยชอบ ไม่อยากหยิบอยากจับลูกบอลอันนี้อีกแล้ว และถ้าคุณพ่อคุณแม่พยายามให้ลูกเล่น ก็จะงอแง หงุดหงิด แสดงอาการต่อต้านสิ่งของเหล่านั้น สัญญาณนี้ถือว่าลูกน้อยกำลังสื่อสารบอกเราว่า ร่างกายหรือจิตใจของเขามีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติ อาจจะไม่สบายตัว เจ็บเนื้อเจ็บตัว มีอาการเจ็บป่วย เป็นโรค หรือมีอาการไม่สบายใจ มีความหงุดหงิด เก็บกด หรือเครียดกับบางสิ่งบางอย่างที่เด็กเองก็ยังไม่รู้ตัว คุณพ่อคุณแม่จะได้ช่วยสืบหา แล้วหาทางแก้ไขความไม่สบายเหล่านี้ให้พ้นไปจากตัวลูก 

 

4. ยอมแพ้ง่าย แม้เป็นกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ

          เด็ก ๆ มักจะสนุกกับการได้ฝึกทักษะ ได้แข่งขัน และแก้ปัญหาง่าย ๆ แต่หากเขาทำกิจกรรมนั้น ๆ ที่เคยสนุก เคยรู้สึกท้าทาย กลับทำให้เขาหงุดหงิด ฉุนเฉียว งอแง เพราะทำไม่ได้ นั่นคือการส่งสัญญาณว่าลูกน้อยของคุณกำลังไม่มีความสุข ไม่มี Passion อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับช่วงเวลาของการทำกิจกรรมนั้น จนกลายเป็นความฝังใจ ความกลัว ความไม่สนุก ไม่อยากทำ มีความบาดเจ็บเกิดขึ้น ที่ไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ อาจจะมีเด็กบางคน เคยทำได้ดีหรือชนะในกิจกรรมนี้ แต่ในการแข่งขันบางครั้ง เขากลายเป็นคนแพ้ มีเพื่อนที่เก่งกว่าชนะเขาไป เรื่องเล็ก ๆ แค่นี้ แต่อาจจะกลายเป็นปมให้ลูก ไม่อยากแข่งขันอีก ไม่อยากทำกิจกรรมนั้นอีก เพราะตัวเองไม่ใช่ที่หนึ่ง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเด็กที่แพ้ไม่เป็น คือรู้จักแต่ชนะ ถ้าเจอสัญญาณแบบนี้ปล่อยผ่านไม่ได้เลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องหาวิธีการสอนและสื่อสารให้ลูกน้อยเข้าใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ในชีวิตของเขา   

 

5. มีพฤติกรรมแยกตัว ชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร

          โดยธรรมชาติเด็กเล็กจะชอบการวิ่งเล่นกับเพื่อนฝูง สนุกสนานกับกิจกรรมที่ได้ขยับเคลื่อนไหว หัวเราะง่าย ร้องไห้ง่าย แล้วก็กลับมาหัวเราะได้ง่าย ๆ ไม่มีความรู้สึกผูกโกรธหรือเก็บความหงุดหงิดไว้กับตัวนาน แต่ถ้าเมื่อไหร่ลูกน้อยเริ่มมีอาการแยกตัวเอง ไม่สมาคมกับเพื่อน ๆ นั่นอาจแปลว่าลูกกำลังส่งสัญญาณบอกเราว่า เขาเริ่มมีความรู้สึกไม่สบายตัวและไม่สบายใจ จนกระทั่งอาจจะเริ่มไม่มีความสุข เขาจึงเลือกที่จะปลีกตัวเพื่อหา save zone ของตัวเอง สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถทำได้คือ พยายามหาวิธีส่งสัญญาณกลับไปว่าเราอยู่ตรงนี้นะ และพร้อมที่จะเป็น save zone ให้กับเขาเสมอ

 

          การใช้เวลาอยู่กับลูก คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะช่วงเวลานั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นนักสืบความสุข ความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจของลูกได้ ความใกล้ชิดบางครั้งถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไป อย่างไม่รู้จักสังเกต อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่พลาดช่วงเวลาที่ดี ที่จะเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ให้การช่วยเหลือลูกน้อย แก้ปัญหาเล็ก ๆ ที่ลูกกำลังส่งสัญญาณบอกเรา แล้วช่วยพาพวกเขากลับเข้าสู่ช่วงเวลาที่สดใส สดชื่นตามช่วงวัยของลูกน้อย

 

NEve

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow